ประวัติความเป็นมา บน.๕๖
ด้วยกองทัพอากาศมีภารกิจในการป้องกันภัยทางอากาศของประเทศ สำหรับพื้นที่ภาคใต้เดิมกำหนดให้ฐานบินสงขลาเป็นฐานบินสนาม โดยประจำการ บ.จ.๕ (OV-10C) ใช้ชื่อว่า “ฝูงบิน ๕๓๑” จากกองบิน ๕๓ จังหวัดประจวบศีรีขันธ์ รับผิดชอบน่านฟ้าไทยใน ๗ จังหวัด ภาคใต้ตอนล่าง
ต่อมาผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพอากาศ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันภัยทางอากาศ ประกอบกับสนามบินสงขลาเป็นสนามบินที่ยากต่อการขยายทางวิ่ง อันเนื่องมาจากบริเวณโดยรอบเป็นย่านชุมชนและสถานที่ราชการ กองทัพอากาศจึงได้ย้ายหน่วยบินสนามมา ณ ที่ตั้งปัจจุบันซึ่งมี ภูมิประเทศเหมาะแก่การปฏิบัติภารกิจและป้องกันภัยทางอากาศ เมื่อ ๕ ต.ค.๒๕๑๘ ใช้ชื่อหน่วยว่า “ฝูงบินผสม ๕๓๖” (หาดใหญ่)
แล้วเปลี่ยนเป็น “ฝูงบินอิสระปฏิบัติราชการสนาม ๕๓๖” เมื่อ ๒๕ ก.ย.๒๕๒๐
เมื่อ พล.อ.อ.พะเนียง กานตรัตน์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทอ.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้กำลังทางอากาศ สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของหน่วยกำลังภาคพื้น ในการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) ในเขตพื้นที่ กองทัพภาคที่ ๔ จึงได้กำหนดนโยบายและอนุมัติหลักการ ให้พัฒนาฐานบินหาดใหญ่ เป็นกองบินปกติเลข ๒ ตัว (เพื่อพลาง) แล้วเปลี่ยนชื่อจาก “ฝูงบินอิสระปฏิบัติราชการสนาม ๕๓๖” เป็น “กองบิน ๕๖” เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ย.๒๕๒๓ ดังนั้นวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน จึงเป็นวันคล้ายวันสถาปนากองบิน ๕๖ มาจนถึงปัจจุบันและในปี ๒๕๒๕ ฝูงบินอิสระปฏิบัติราชการสนาม ๕๓๖ (หาดใหญ่) ได้โอนการขึ้นการบังคับบัญชาไปขึ้นตรงกองบิน ๗๑ จึงเปลี่ยนชื่อจากเดิมเป็น “ฝูงบินอิสระปฏิบัติราชการสนาม ๗๑๖” (หาดใหญ่) และต่อมาวันที่ ๒๐ ธ.ค.๒๕๒๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติให้ ทอ.ใช้อัตรากองบินหมายเลข ๒ ตัวคือ “กองบิน ๕๖” เป็นอัตราอนุมัติ แล้วได้ยกเลิกฝูงบินอิสระปฏิบัติราชการสนาม ๗๑๖ (หาดใหญ่) เมื่อ ๓๐ ก.ย.๒๕๒๖
ต่อมา กองทัพอากาศ ได้พิจารณาเสริมกำลังทางอากาศ บริเวณพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ทั้งนี้เพื่อเป็นศูนย์กลางการวางกำลังทางอากาศ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีในการป้องกันประเทศ รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลของชาติ จึงย้ายเครื่องบินแบบ T-33 (T-BIRD) จำนวน ๑๔ เครื่อง และแบบ RT-33 จำนวน ๓ เครื่อง พร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งจากกองบิน ๑ ฝูงบิน ๑๐๑ จังหวัดนครราชสีมา มาประจำการ ณ กองบิน ๕๖ จังหวัดสงขลา ใช้ชื่อว่า “กองบิน ๕๖ ฝูงบิน ๕๖๑” ในวันที่ ๑๕ มิ.ย.๒๕๒๔ โดยให้ยืดภารกิจหลัก คือการลาดตระเวนทางอากาศและฝึกนักบินขับไล่/โจมตี จนกระทั่ง บ.ดังกล่าวได้ปลดประจำการไปเมื่อวันที่ ๓๐ ก.ย.๒๕๓๘